หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

Junk Food หรือ อาหารขยะ

อาหารขยะไร้ประโยชน์

วันนี้ สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก เต็มไปด้วยการแข่งขัน เร่งรีบประกอบกับการโฆษณา ยุคโลกาภิวัฒน์ในสหัสวรรษใหม่ ข้อมูลข่าวสารไหลมาตามช่องทางต่างๆ ถึงตัวผู้บริโภคได้รวดเร็ว จนบางครั้ง ไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำไป ที่สำคัญ เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ไม่มีใครพิสูจน์จนกว่าจะได้ลองเอง

วิถีชีวิตและพฤติกรรม ที่เปลี่ยนไปของคนเมือง ทำให้ต้องฝากปากท้อง กับอาหารสำเร็จรูป และอาหารจานด่วน ซึ่งส่วนมาก จะมาในรูปอาหารตะวันตก ประเภทสะดวก เร็ว อิ่ม (แต่แพง) เพราะซื้อหาได้ทั่วไป ถูกปากคนรุ่นใหม่ ใส่บรรจุภัณฑ์เก๋ไก๋ พกพาไปได้ทั่ว รับประทานได้ทุกที่ 

คำว่า Junk Food เป็นศัพท์แสลงของ อาหารที่มีสารอาหารจำกัด หรือที่เรียกกันว่า อาหารขยะ อาหารไร้ประโยชน์ อาหาร ที่นักโภชนาการ ไม่เคยแนะนำ อะไรทำนองนี้ แต่ขึ้นชื่อว่า Junk Food จะต้องประกอบด้วยสารอาหาร ที่ให้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำตาล ไขมัน แป้ง และมีส่วนประกอบโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ น้อยมาก ตัวอย่างเช่น ขนมขบเคี้ยวรสเค็ม รสหวาน ลูกอม หมากฝรั่ง ขนมหวานทุกชนิด อาหารทอด อาหารจานด่วนบางชนิด และน้ำอัดลม หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Empty Calorie มีความหมายว่า ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์เลย เทียบกับอาหารไทย โดยพื้นฐานแล้ว ในหนึ่งจานให้คุณค่าหลากหลาย ไขมันต่ำกว่า อุดมด้วยสมุนไพร ที่เป็นคุณต่อสุขภาพ แต่ด้วยความเร่งรัดของวิถีชีวิต ทำให้คนไม่มีเวลาเลือกหา และไม่ยอมเสียเวลา ปรุงอาหารรับประทานเอง อย่างน้อยหนึ่งมื้อ ในหนึ่งวันของใครหลายคน จึงเลือก Junk Food เป็นทางออก ขณะเดียวกัน ก็ยอมเสียสตางค์แพงๆ เลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มาเติมเต็มทดแทน ส่วนที่ขาดหายไป …ถ้าคนไทยไม่รู้จักแฮมเบอร์เกอร์ เฟรนซ์ฟราย พิซซ่า แต่ยังคงกินน้ำพริกปลาทู ข้าวกล้อง ส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง แกงส้ม… โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เบาหวาน และ อื่นๆ อีกมากมาย ก็ไม่น่าจะเจอในคน
อายุน้อยๆ เหมือนที่พบมากในปัจจุบัน ที่สำคัญ เงินทองไม่รั่วไหล ออกนอกประเทศ จำนวนมหาศาลต่อปี
 

Junk Food ส่วนใหญ่ จะให้พลังงานที่ได้มาจาก ส่วนประกอบ 3 อันดับแรกคือ น้ำตาล ไขมัน และแป้ง ดังนั้น ต้องพิจารณาให้ดี อาหารสำเร็จรูปบางชนิด จะมีฉลากโภชนาการแจ้งให้ทราบ 

อาหาร Junk Food ยอดนิยม ยังขาดสารอาหาร ที่มีความจำเป็นต่อการทำงาน ของร่างกายอยู่หลายชนิด และในทางตรงกันข้าม ก็มีพลังงานหรือสารอาหารบางตัว ที่ยังไม่สมดุลกับความต้องการ การดูแลสุขภาพร่างกาย ให้พร้อมสำหรับชีวิตประจำวัน เพื่อ ให้ร่างกายมีความสมบูรณ์ และแข็งแรงในรูปแบบง่ายๆ ซึ่งเราๆ ท่านๆ ท่องจำขึ้นใจ เป็นเสียงเดียวกันว่า หนึ่ง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สอง รับประทานอาหาร ให้ถูกหลักโภชนาการ และสาม พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถามว่ามีสักกี่คนที่ปฏิบัติทั้ง 3 ข้อนี้ได้อย่างแท้จริง 


ภญ.ผศ.ดนิตา ภาณุจรัส
ภาควิชาเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
 
แหล่งข้อมูล : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร - www.pharm.su.ac.th

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

โรคไต (Renal failure)




โรคไต หมายถึง โรคอะไรก็ได้ที่มีความผิดปกติหรือที่เรียกว่า พยาธิสภาพ เกิดที่บริเวณไต ที่พบมาก ได้แก่
โรคไตวายฉับพลันจากเหตุต่างๆ
โรคไตวายเรื้อรังเกิดตามหลังโรคเบาหวาน โรคไตอักเสบ หรือโรคความดันโลหิตสูง
โรคไตอักเสบเนโฟรติก
โรคไตอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันสับสน (โรค เอส.แอล.อี.)
โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคถุงน้ำที่ไต (Polycystic Kidney Disease)
อาการ
ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคไต แต่ก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้ โดยจะปัสสาวะเป็นเลือด อาจเป็นเลือดสดๆ เลือดเป็นลิ่มๆ
ปัสสาวะเป็นสีแดง สีน้ำล้างเนื้อ สีชาแก่ๆ หรือปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ก็ได้
ปัสสาวะเป็นฟองมาก เพราะมี albumin หรือโปรตีนออกมามาก จะทำให้ปัสสาวะมีฟองขาวๆ เหมือนฟองสบู่
การมีปัสสาวะเป็นเลือด พร้อมกับมีไข่ขาว-โปรตีนออกมาในปัสสาวะพร้อมๆ กัน เป็นข้อสันนิฐาน ที่มีน้ำหนักมากว่าจะเป็นโรคไต
ปัสสาวะขุ่น อาจเกิดจากมี เม็ดเลือดแดง (ปัสสาวะเป็นเลือด) เม็ดเลือดขาว (มีการอักเสบ) มีเชื้อแบคทีเรีย (แสดงว่ามีการติดเชื้อ) หรืออาจเกิดจากสิ่งที่ร่างกายขับออกจากไต แต่ละลายได้ไม่ดี เช่น พวกผลึกคริสตัลต่างๆ เป็นต้น
การผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ เช่นการถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบ ปัสสาวะราด เบ่งปัสสาวะ อาการเหล่านี้ ล้วนเป็นอาการผิดปกติ ของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่นกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก และท่อทางเดินปัสสาวะ
การปวดท้องอย่างรุนแรง (colicky pain) ร่วมกับการมีปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น หรือมีกรวดทราย แสดงว่าเป็นนิ่วในไต และทางเดินปัสสาวะ
การมีก้อนบริเวณไต หรือบริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง อาจเป็นโรคไต เป็นถุงน้ำการอุดตันของไต หรือเนื้องอกของไต
การปวดหลัง ในกรณีที่เป็นกรวยไตอักเสบ จะมีอาการไข้หนาวสั่น และปวดหลังบริเวณไต คือ บริเวณสันหลังใต้ซี่โครงซีกสุดท้าย
อาการบวม โดยเฉพาะการบวมที่บริเวณ หนังตาในตอนเช้า หรือหน้าบวม ซึ่งถ้าเป็นมาก จะมีอาการบวมทั่วตัว อาจเกิดได้ในโรคไตหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อย โรคไตอักเสบชนิดเนฟโฟรติค ซินโดรม (Nephrotic Syndrome)
ความดันโลหิตสูง เนื่องจากไตสร้างสารควบคุมความดันโลหิต ประกอบกับไต มีหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย เพราะฉะนั้นความดันโลหิต สูงอาจเป็นจากโรคไตโดยตรง หรือในระยะไตวายมากๆ ความดันโลหิตก็จะสูง ได้
ซีดหรือโลหิตจาง เช่นเดียวกับความดันโลหิตสูง สาเหตุของโลหิตจางมีได้ หลายชนิด แต่สาเหตุที่เกี่ยวกับโรคไตก็คือ โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure) เนื่องจากปกติ ไตจะสร้างสารอีริโธรโปอีติน (Erythopoietin) เพื่อไปกระตุ้นให้ไขกระดูก สร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเกิดไตวายเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถสร้างสารอีริโธรโปอีติน (Erythopoietin) ไปกระตุ้นไขกระดูก ทำให้ซีด หรือโลหิตจาง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลมบ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ควรต้องไปพบแพทย์ ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เอ็กซ์เรย์ จึงจะพอบอกได้แน่นอนขึ้น ว่าเป็นโรคไตหรือไม่
สาเหตุ
เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital) เช่นมีไตข้างเดียว หรือไตมีขนาดไม่เท่ากัน โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic kidney disease) ซึ่งเป็น กรรมพันธุ์ด้วย เป็นต้น
เกิดจากการอักเสบ (Inflammation) เช่นโรคของกลุ่มเลือดฝอยของไตอักเสบ (glomerulonephritis)
เกิดจากการติดเชื้อ (Infection) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ เช่นกรวยไตอักเสบ ไตเป็นหนอง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (จากเชื้อ โรค) เป็นต้น
เกิดจากการอุดตัน (Obstruction) เช่นจากนิ่ว ต่อมลูกหมากโต มะเร็งมดลูกไปกดท่อไต เป็นต้น
เนื้องอกของไต ซึ่งมีได้หลายชนิด
คำแนะนำ
1.
กินอาหารโปรตีนต่ำ หรืออาหารโปรตีนต่ำมาก ร่วมกับกรดอะมิโนจำเป็น
โดยกินอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง ซึ่งหมายถึงโปรตีน ที่ได้จากเนื้อสัตว์ทุกชนิด จำนวน 0.6 กรัม ของโปรตีน / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน โดยไม่ต้องให้กรดอะมิโนจำเป็น หรือกรดคีโต (Keto Acid) เสริม เพราะอาหารโปรตีนในขนาดดังกล่าวข้างต้น ให้กรดอะมิโนจำเป็นในปริมาณที่พอเพียง กับความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยซึ่งมีน้ำหนักตัวเฉลี่ย ประมาณ 50-60 กิโลกรัม ควรกินอาหาร ที่มีปริมาณโปรตีนสูงประมาณ 30-60 กรัม / วัน อาจจำกัดอาหารโปรตีน เพื่อชะลอการเสื่อมหน้าที่ ของไตได้อีกวิธีหนึ่ง โดยให้ผู้ป่วยกินอาหารโปรตีนต่ำมาก (0.4 กรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน) ร่วมกับกรดอะมิโนจำเป็น หรืออนุพันธ์คีโต (Keto Analog) ของกรดอะมิโนจำเป็น ในกรณีผู้ป่วยมีน้ำหนักเฉลี่ย 50-60 กิโลกรัม ควรกินโปรตีนประมาณ 20-25 กรัม / วัน เสริมด้วยกรดอะมิโนจำเป็น หรืออนุพันธ์ครีโตของกรดอะมิโนจำเป็น 10-12 กรัม / วัน
2.
กินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลต่ำ โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง ควรควบคุมปริมาณโคเลสเตอรอล ในอาหารแต่ละวันไม่ให้เกิน 300 มิลลิกรัม / วัน ด้วยการจำกัดอาหาร ที่มีโคเลสเตอรอลมาก เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ทุกชนิด และนม เป็นต้น
3.
งดกินอาหารที่มีฟอสเฟตสูง ฟอสเฟตมักพบในอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม และเมล็ดพืชต่างๆ เช่น ถั่วลิสง เม็ดทานตะวัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดอัลมอนด์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว พบว่าอาหารที่มีฟอสเฟตสูง จะเร่งการเสื่อมของโรคไตวายเรื้อรัง ให้รุนแรงมากขึ้น และมีความรุนแรงของ การมีโปรตีนรั่วทางปัสสาวะมากขึ้น นอกเหนือจากผลเสีย ต่อระบบกระดูกดังกล่าว
4.
ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ไม่มีอาการบวม การกินเกลือในปริมาณไม่มากนัก โดยไม่ต้องถึงกับงดเกลือโดยสิ้นเชิง แต่ไม่ควรกินเกลือเพื่อการปรุงรสเพิ่ม ผู้ป่วยที่มีอาการบวมร่วมด้วย ควรจำกัดปริมาณเกลือที่กินต่อวันให้น้อยกว่า 3 กรัมของน้ำหนักเกลือแกง (เกลือโซเดียมคลอไรด์) ต่อวัน ซึ่งทำได้โดยกินอาหารที่มีรสชาติจืด งดอาหารที่มีปริมาณเกลือมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ทำเค็ม หรือหวานเค็ม เช่น เนื้อเค็ม ปลาแห้ง กุ้งแห้ง รวมถึงหมูแฮม หมูเบคอน ไส้กรอก ปลาริวกิว หมูสวรรค์ หมูหยอง หมูแผ่น ปลาส้ม ปลาเจ่า เต้าเจี้ยว งดอาหารบรรจุกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง เนื้อกระป๋องข้างต้น
5. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีน้ำหนักเกิน น้ำหนักจริงที่ควรเป็น (Ideal Weight for Height) ในคนปกติ ควรจำกัดปริมาณแคลอรี ให้พอเพียงในแต่ละวันเท่านั้น คือ ประมาณ 30-35 กิโลแคลอรี / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน

นุชจรี ร่วมชาติ
 แหล่งข้อมูล : www.dmsc.moph.go.th - ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม







วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

โรคอ้วน Metabolic Syndrome




ในสภาวะของสังคมปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกันมาก โรคหนึ่งเป็นภาวะจากความสมบูรณ์ที่เกินไป เดิมเคยเรียกว่า โรคคนรวย แต่ยุคนี้ไม่จำเป็นแล้ว โรคความอ้วน จากความเชื่อเดิมที่คิดกันว่าคนเราอยู่ดีกินดีมีความสุข สุขภาพดี ร่างกายจะต้องอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่เมื่อองค์ความรู้ต่อเติมงอกงามขึ้น จนรู้ว่า ความสมบูรณ์นั้นกลับกลายเป็นแหล่งรวมโรคนานาชนิดที่ร้ายแรง

โรคอ้วนอย่างเดียวก็กระชากความมั่นใจของคนนั้นไปแทบหมดสิ้น อีกทั้งต้องเผชิญกับโรคร้ายที่จ่อคิวตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เหนื่อยง่าย อุ้ยอ้าย เครียดง่าย เหล่านี้เป็นสิ่งที่เมื่อคุณอ้วนจะต้องพบพานไม่ช้าก็เร็ว
เมื่อความรู้ปรากฏ คนก็ กลัว ความอ้วน แต่กลัวเป็นแฟชั่น ไม่ได้กลัวที่จะรักษาอย่างตั้งใจจริง ปัจจุบัน จึงได้เกิดสินค้าลด รักษา ความอ้วนกันอย่างมากมาย

ด้วยการรักษาหลากหลายวิธี ทั้งยาลดความอ้วน ที่กินมากจนประสาทหลอนกันไป อาหารเสริม อาหารคุมน้ำหนัก อาหารละลายไขมัน ธัญพืช สมุนไพรลดไขมัน ครีมนวดลดไขมัน จนกระทั่งก้าวไปถึงการแพทย์ ทั้งเครื่องสลายไขมัน ดูดไขมัน ตัดไขมัน หรือ กระทั่งสินค้าที่โฆษณาเกินจริง เช่น แหวนลดน้ำหนัก เข็มขัดลดน้ำหนัก ล้วนแต่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพื่อหวังผลทางการตลาด
แต่การรักษาที่ได้ผลจริงแท้แน่นอนก็คือ กินพอดี ออกกำลังกายให้พอ จิตใจต้องเข้มแข็งในการต่อสู้ ไม่ต้องไปหายาเทวดาสั่งที่ไหนกินก็หายได้ ง่าย ถูก แต่ไม่ชอบ เสียเงินสบายใจกว่ากันเยอะเลย
โรคอ้วน คือ อะไร ?
ในที่นี้ หมายถึง ความอ้วนที่มากเกินไป มีน้ำหนักตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ใช่อ้วนกำลังดี อ้วนพองามหรือกำลังสวย คำว่า อ้วน ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง มีเนื้อและไขมันมาก โต อวบ ซึ่งเป็นความหมายที่ไม่น่าปรารถนาของคนทั่วๆ ไป


จะเห็นว่าสาเหตุแห่งความอ้วนนั้นไม่มีอะไรมาก เพราะไขมันเข้าไปอยู่ในตัวเกินความจำเป็น จากที่แก้ไขยาก อ้วนเพราะเจ็บป่วยบางโรค และยาบางชนิด แต่คนอ้วนจำนวนมากในโลก ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย วัยรุ่นหรือสูงวัย ต่างอ้วนเพราะตัวเองไม่คุมจิตใจ ตามใจปาก อยากกินดะ ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่ออกกำลังกาย นั่งๆ นอนๆ เที่ยว เล่น กิน แล้วก็เป็นบังอรเอาแต่นอน สุดท้ายโรคอ้วนก็พาเพื่อนตามมา ทั้ง เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมโลก (โรค) ที่ร้ายๆ ทั้งนั้น พร้อมจะคร่าชีวิตได้ทุกเมื่อ หรือถ้าไม่ตาย เมื่อเป็นโรคเหล่านี้ก็ต้องดูแลรักษากันไปตลอดชีวิต
วันนี้ไม่สาย ที่จะรักตัวเอง



1. เกิดจากสาเหตุภายนอก เป็นสาเหตุใหญ่ที่เกิดโรคอ้วน เพราะตามใจปากมากเกินไป กินมากเกินความต้องการของร่างกาย อาหารที่กิน เนื้อ ไขมัน หรือแป้ง ของหวาน สิ่งเหล่านี้จะถูกเก็บสะสมไว้ในร่างกาย ถ้ามีมากเกินไปก็จะกลายเป็นไขมันพอกพูนตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ออกกำลังกายน้อย กินแล้วนอน

      1. นิสัยในการรับประทาน คนที่มีนิสัยการรับประทานที่ไม่ดี เรียกว่า กินจุบกินจิบไม่เป็นเวลา
      2. ขาดการออกกำลังกาย ถ้ารับประทานอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ แต่ได้ออกกำลังกายบ้างก็อาจทำให้อ้วนช้า             ลง แต่หลายคนไม่ได้ยืดเส้นยืดสาย ไม่ช้าจะเกิดการสะสมเป็นไขมันในร่างกาย

2. มาจากสาเหตุภายใน พบได้จากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อไทรอยด์ ทำให้มีไขมันตามบริเวณต้นแขน ต้นขา และหน้าท้อง

      1. จิตใจและอารมณ์ มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่การกินอาหารขึ้นอยู่กับจิตใจและอารมณ์ เช่น กินดับความโกรธ ดับความคับ             แค้นใจ กลุ้มใจ กังวลใจ หรือดีใจ บุคคลเหล่านี้ จะรู้สึกว่าอาหารที่ทำให้จิตใจสงบ จึงหันมายึดเอาอาหารไว้เป็นที่พึ่งทาง           ใจ ตรงกันขามกับบางคนกลุ้มใจเสียใจก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
      2. ความไม่สมดุลระหว่างความรู้สึกอิ่มกับความหิว เมื่อใดที่ความอยากเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นการกินก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถึงขั้นเรียก           ว่า กินจุ ในที่สุดก็อ้วนเอาๆ

3. เพราะกรรมพันธุ์ ซึ่งพบได้น้อย กรรมพันธุ์นี้พิสูจน์ไม่ได้ แต่ถ้าพ่อและแม่อ้วนทั้งสองคน ลูกจะมีโอกาสอ้วนได้ถึงร้อยละ 80 ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน ลูกมีโอกาสอ้วนได้ถึงร้อยละ 40
4. โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง
5. จากการกินยาบางชนิด ก็ส่งผลกระทบให้อ้วน ผู้ป่วยบางโรคได้รับฮอร์โมนสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ก็ทำให้อ้วนได้ และในผู้หญิงที่ฉีดยาหรือกินยาคุมกำเนิดก็ทำให้อ้วนง่ายเช่นกัน
6. เพศ เพศหญิงนั้นมักอ้วนกว่าเพศชาย ก็ธรรมชาติเธอมักสรรหาจะกิน กิน และกิน ตลอดเวลา อีกทั้งตอนตั้งครรภ์ ก็ต้องกินมากขึ้น เพื่อบำรุงร่างกายและลูกน้อยในครรภ์ แต่หลังจากคลอดลูกแล้ว บางรายก็ลดน้ำหนักลงมาได้ แต่บางรายก็ลดไม่ได้ ผู้หญิงทำงานน้อย ออกกำลังน้อยกว่าชาย ผู้หญิงอ้วนมากกว่าผู้ชาย 4 : 1


อายุ เมื่อมากขึ้น โอกาสโรคอ้วนถามหาก็ง่ายขึ้น เนื่องจากพออายุมาก มีความเชื่องช้า ใช้พลังงานน้อยลง กินมากกว่าใช้ หญิงและชายที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป มักจะอ้วนง่าย เพราะคนวัยนี้ ยังอยู่ในวัยทำงานมาก กินมากขึ้นเพื่อชดเชยกำลังงานที่ถูกใช้ไป คนมีสุขภาพจิตดีมักมีรูปร่างสมส่วนแข็งแรง บางคนสุขภาพจิตไม่ดี อารมณ์เครียดเป็นประจำ ทำให้เกิดความท้อถอย เบื่อหน่าย ขี้เกียจออกกำลัง โรคอ้วนก็จะถามหา

แหล่งข้อมูล : นิตยสาร Alternative Medicine


การมีพุงนั้นสำคัญไฉน
           ความอ้วน นอกจากทำให้สวยน้อยลงแล้ว ยังเป็นสาเหตุของสารพัดโรค ยิ่งอ้วนก็ยิ่งมีโรคได้หลายอย่างมากขึ้น ที่ผ่านมาเรารู้จักแต่คำว่า ดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งเป็นตัวชี้บ่งว่าอ้วน  หากมี BMI ตั้งแต่ 25 กก./ม2 ขึ้นไป แต่ในระยะหลังพบว่าความเสี่ยงต่อโรคมีมาก  โดยเฉพาะผู้ที่มีลักษณะอ้วนลงพุง คือ จะมีสะโพกเล็ก ไหล่กว้าง และลงพุง ซึ่งเป็นลักษณะอ้วนที่อันตรายที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าคนอ้วนสองคน ที่มีน้ำหนักตัวมากเท่ากัน คนอ้วนที่ลงพุงมากจะเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือดได้มากกว่าคนอ้วนที่สะโพกใหญ่
           อ้วนลงพุง เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในบริเวณช่องท้องมากกว่าปกติ ในขณะเดียวกันก็สะสมในอวัยวะที่สำคัญ และอันตรายได้ง่ายด้วย
           จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในช่วง 5-6 ปีมานี้ พบว่าคนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไป มีปัญหาการลงพุงเกือบร้อยละ 30 หรือประมาณ 12 ล้านคน หรืออาจกล่าวได้ว่า ในคนไทย 3 คนจะพบคนอ้วนลงพุง 1 คน หากถูกจัดเข้ากลุ่มอ้วนลงพุงแล้ว จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนลงพุง หรือ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า เมตาบอลิคซินโดรม (Metabolic Syndrome) จากการศึกษาในโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยการวัดสัดส่วนของร่างกายร่วมกับตรวจผลเลือด พบว่า คนที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในช่วง 23.0-24.9 กิโลกรัม/เมตร2 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ท้วม หรือเริ่มอ้วน [ค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก(กิโลกรัม)/ส่วนสูง(เมตร)/ส่วนสูง(เมตร)]  จะมีคนอ้วนลงพุงประมาณครึ่งหนึ่ง และครึ่งหนึ่งในคนจำนวนนี้จะมีผลเลือดผิดปกติเข้าได้กับเป็นโรคอ้วนลงพุง หรืออาจกล่าวโดยคร่าวๆว่าคนที่ดูท้วมๆก็มีโอกาสเป็นโรคอ้วนลงพุงได้ร้อยละ 25 และเมื่อดัชนีมวลกายมากขึ้นไปอีก ก็จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนลงพุงเพิ่มขึ้นอีก และอาจมากถึงประมาณร้อยละ 50 
ลงพุงแล้วเมื่อไหร่จึงเป็นโรคอ้วนลงพุง
           เมื่อพบมีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร หรือ 36 นิ้ว ในชาย และเส้นรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตร หรือ 32 นิ้วในหญิงแล้ว พร้อมกับพบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกตั้งแต่ 2  อย่างขึ้นไปใน 4  อย่างต่อไปนี้ ก็จัดได้ว่าคุณเป็นโรคอ้วนลงพุง แล้ว
ปัจจัยเสี่ยง 4  อย่าง ได้แก่
           1.    ความดันโลหิต ตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป           2.    ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (Triglyceride > 150 mg/dL)           3.    ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (Fasting Plasma Glucose  > 100 mg/dL)           4.    ระดับโคเลสเตอรอลชนิดดีในเลือด หรือ High Density Lipoprotein (HDL-cholesterol) น้อยกว่า 40  มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ชาย และน้อยน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้หญิง
สาเหตุของโรคอ้วนลงพุงเกิดจากอะไร
           แม้ว่ากรรมพันธุ์เป็นสาเหตุหนึ่ง  แต่ผลจากการศึกษาพบว่า  ปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่คล้ายคลึงกัน คือชอบรับประทานอาหารที่มากเกินความจำเป็นโดยเฉพาะอาหารหวานมัน  น้ำหวานในรูปต่างๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแม้เพียงการเคลื่อนไหวตามปกติที่นานหน่อย
ทุกข์จากโรคอ้วนลงพุง
           นอกจากจะต้องแบกรับความทุกข์ที่เกิดจากความอ้วน เช่น ข้อกระดูกเสื่อม การหายใจไม่อิ่ม ทำให้ง่วงซึม หายใจไม่เต็มปอด เหมือนคนอ้วนแบบอื่นแล้ว  คนที่เป็นโรคอ้วนลงพุงยังมีโอกาสสูงมากๆ ที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งรุนแรงถึงขั้นทำให้เป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้มากกว่าคนอ้วนชนิดไม่ลงพุงเป็นเท่าทวี
วิธีใดบ้างที่ช่วยป้องกัน/บรรเทาโรคอ้วนลงพุง
           มีการศึกษาพบว่าการลดน้ำหนักตัวลงไปเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ จากน้ำหนักที่เป็นอยู่ ก็สามารถช่วยให้การทำงานต่างๆ ของร่างกายดีขึ้นได้ ลดโอกาสเป็นเบาหวานได้เกือบครึ่ง ลดไขมัน และความดันโลหิตสูง ฯลฯ ทำได้โดย
           1.    ออกกำลังกายบ้าง ประมาณวันละ 30 นาทีขึ้นไป 3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างกระฉับกระเฉง เช่น เดินอย่างประฉับกระเฉง  วันละหนึ่งหมื่นก้าว หรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง  ตามสมรรถภาพร่างกายของแต่ละคนก็จะได้ผลดีกว่าการนั่งเฉยๆ
           2.    จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม ไม่ให้เกินวันละ 1 ส่วน เช่น ไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้ว สำหรับผู้หญิง หรือ 2 แก้วสำหรับผู้ชาย และไม่ควรดื่มทุกวัน เพราะโอกาสดื่มเกินมีมากกว่าโอกาสขาดแคลนการดื่ม
           3.    ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารอย่างถูกต้อง และจริงจัง เช่น ลดการทานอาหารมีกากใยน้อย เช่น  ข้าวขาว ขนมปังขาว น้ำตาล และน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มหวานๆ อีกหลายชนิด แต่เพิ่มการทานอาหารที่มีปริมาณกากใยมาก เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ผลไม้ที่ไม่หวานจัด  อาหารจำพวกถั่วเป็นของดีมีกากใยมาก แต่ก็ให้พลังงานมาก ถ้ากินมากเกินไป อาหารจำพวกผักเป็นสิ่งที่บริโภคได้มากโดยไม่จำกัด ลดการทานอาหารประเภททอด ที่ต้องใช้น้ำมันมากๆ ควรเลือกทานอาหารประเภทนึ่ง หรือต้ม หรือย่าง หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม แต่ใช้ความหวานตามธรรมชาติ หากจำเป็นสามารถใช้น้ำตาลเทียมช่วยได้ เพราะผู้ป่วยเบาหวานก็ใช้อยู่เป็นประจำ
แหล่งที่มี วิชาการ.คอม